ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)  (อ่าน 23 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 524
  • ลงโฆษณา อย่างคุ้มค่าในการลงโฆษณา ได้ผลที่สุด รับจ้างโพส รับโปรโมทเว็บ
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
« เมื่อ: วันที่ 22 ตุลาคม 2024, 18:43:13 น. »
หมอประจำบ้าน: มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งในผู้หญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 35-60 ปี แต่ก็อาจพบในคนอายุน้อย (เช่น 20 ปี) ก็ได้

มะเร็งชนิดนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและรักษาให้หายขาดได้

สาเหตุ

สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคนี้ มีความสัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papilloma virus/HPV) ชนิด 16 และ 18 (ซึ่งยังเป็นปัจจัยของการเกิดมะเร็งช่องปากและองคชาตอีกด้วย แต่เป็นคนละสายพันธุ์กับเอชพีวี ชนิดที่ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดและหงอนไก่) เชื้อนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งพบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี สามารถตรวจเช็กพร้อมกับการตรวจแพ็ปสเมียร์ พบว่าการติดเชื้อเอชพีวีมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 17 ปี, มีคู่นอนหรือสามีหลายคน หรือมีสามีที่มีความสำส่อนทางเพศ, มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ (เช่น เอชไอวี เชื้อคลามีเดีย เริม ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น), ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกัน)

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เสริมให้เป็นมะเร็งปากมดลูก เช่น การสูบบุหรี่ การกินยาเม็ดคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปีขึ้นไป การมีบุตรหลายคน การกินผักและผลไม้น้อย น้ำหนักเกิน การมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว เป็นต้น

อาการ

ระยะแรกเริ่ม จะไม่มีอาการแสดง (สามารถตรวจพบโดยการตรวจแพ็ปสเมียร์) เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น จะพบว่ามีอาการเลือดออกจากช่องคลอด (บางรายเข้าใจว่ามีประจำเดือนออกมากหรือกะปริดกะปรอย) หรือมีเลือดออกภายหลังการร่วมเพศ บางรายอาจมีอาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือตกขาวปริมาณมาก

ผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาจสังเกตว่าหลังจากหมดประจำเดือนไปนาน 6 เดือนหรือเป็นปี กลับมีประจำเดือนมาใหม่ แต่ออกมากและนานกว่าปกติ

ระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ก้นกบ หรือต้นขา ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ขาบวม เกิดภาวะไตวาย เนื่องจากทางเดินปัสสาวะอุดกั้นจากก้อนมะเร็ง

ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดภาวะซีด (จากอาการเลือดออกทางช่องคลอดเรื้อรัง), เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์

มะเร็งมักลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะ (ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด), ทวารหนัก (ถ่ายอุจจาระลำบาก ถ่ายเป็นเลือด), มีปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ดรั่วออกทางช่องคลอด, ลำไส้ (ลำไส้อุดกั้น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด), ในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ)

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ หรือการตรวจกรองโรคก่อนมีอาการ โดยการขูดเซลล์เยื่อบุปากมดลูกนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดังที่เรียกว่าแพ็ปสเมียร์ (Pap smear)

หากสงสัยก็จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูก (colposcopy) และตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ

หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์,เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด อาจให้รังสีบำบัด (ฉายรังสี ใส่แร่เรเดียม) และ/หรือเคมีบำบัดร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค

ผลการรักษา หากพบระยะแรก ๆ การรักษามักจะได้ผลดี หรือหายขาดได้เป็นส่วนใหญ่ มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ถึงร้อยละ 60-95 ถ้าพบระยะ 3 และ 4 การรักษาอาจช่วยให้มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณร้อยละ 20-50

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดไปจากเลือดประจำเดือน, มีเลือดออกภายหลังการร่วมเพศ, มีอาการตกขาวมีเลือดปนหรือมีกลิ่นเหม็น เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก  กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เสรีหรือไม่ปลอดภัย ส่วนการใส่ถุงยางอนามัยอาจป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ถ้ามีรอยโรคอยู่นอกบริเวณที่ถุงยางครอบคลุมได้
    ไม่สูบบุหรี่
    รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
    ตรวจหามะเร็งปากมดลูกระยะแรก (แพ็ปสเมียร์) เป็นประจำ หากพบว่าเซลล์ปากมดลูกเริ่มมีความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง (precancerous) จะได้ให้การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็ง และหากพบว่าเริ่มเป็นมะเร็งระยะแรก (ก่อนมีอาการ) ก็จะได้ให้การรักษาให้หายขาดได้
    ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV vaccine) ซึ่งจะเริ่มฉีดให้เด็กหญิงตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป (ควรฉีดก่อนที่จะแต่งงานหรือมีความสัมพันธ์ทางเพศ จึงจะได้ประสิทธิผลดี) โดยฉีด 3 เข็ม เข็มที่ 2 และ 3 ห่างจากเข็มแรก 2 และ 6 เดือนตามลำดับ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อเอชพีวี (พบประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้) ข้อเสียคือ วัคซีนยังมีราคาแพง และไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100%

ข้อแนะนำ

1. มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบระยะแรก (ก่อนปรากฏอาการ) และรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น ผู้หญิงที่มีสุขภาพเป็นปกติดี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจกรองหามะเร็งระยะแรก ดังนี้

    ควรเริ่มตรวจตั้งแต่หลังแต่งงานหรือเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้ 3 ปี หรือเมื่ออายุได้ 30 ปีขึ้นไป โดยการตรวจด้วยวิธีแพ็ปสเมียร์ (Pap smear) ทุก 3 ปี (หรือวิธี VIA ทุก 5 ปี จนถึงอายุ 55 ปีขึ้นไปควรตรวจด้วยวิธีแพ็ปสเมียร์แทนทุก 3 ปี) แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี สูบบุหรี่ กินยาเม็ดคุมกำเนิด ควรตรวจทุกปี
    ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หากเคยมีผลการตรวจเป็นปกติติดต่อกันอย่างน้อย 3 ครั้ง (และไม่เคยมีผลการตรวจที่ผิดปกติเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี) ก็สามารถหยุดการตรวจแพ็ปสเมียร์ได้ แต่ถ้าเคยเป็นมะเร็งปากมดลูกมาก่อน หรือมีปัจจัยเสี่ยงก็ควรจะได้รับการตรวจต่อไปตราบเท่าที่ยังแข็งแรง
    ผู้หญิงที่เคยผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมดโดยไม่มีสาเหตุจากมะเร็ง สามารถหยุดการตรวจแพ็ปสเมียร์ได้ แต่ถ้าผ่าตัดมดลูกเพียงบางส่วนและยังคงปากมดลูกไว้ ก็ควรรับการตรวจแพ็ปสเมียร์แบบผู้หญิงทั่วไปดังกล่าวข้างต้น

2. ผู้หญิงที่มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือตกขาวผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี