ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: อาการของโรค: ไข้หวัด (Common cold/Upper respiratory  (อ่าน 51 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 522
  • ลงโฆษณา อย่างคุ้มค่าในการลงโฆษณา ได้ผลที่สุด รับจ้างโพส รับโปรโมทเว็บ
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: อาการของโรค: ไข้หวัด (Common cold/Upper respiratory tract infection/URI)

ไข้หวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่เพิ่งฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็ก และเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรก ๆ จะติดเชื้อจากเพื่อนในห้องป่วยเป็นไข้หวัดได้บ่อยมาก

โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงาน และที่ที่มีคนอยู่รวมกลุ่มกันมาก ๆ และพบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง

ไข้หวัดจัดว่าเป็นโรคที่ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ เนื่องเพราะมักมีอาการไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ด้วยการปฏิบัติตัวและการรักษาตามอาการ

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อหวัด ซึ่งเป็นไวรัส (virus) มีอยู่มากกว่า 200 ชนิดจากกลุ่มไวรัสหลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มไวรัสที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไวรัสไรโน (rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกนั้นก็มีกลุ่มไวรัสโคโรนา (coronavirus) กลุ่มไวรัสอะดีโน (adenovirus) กลุ่มอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) กลุ่มไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (parainfluenza virus) กลุ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) กลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) กลุ่มเชื้อเริม (herpes simplex virus) เป็นต้น แต่ละกลุ่มจะมีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ เช่น ไวรัสโคโรนา มีสายพันธุ์เก่า 4 สายพันธุ์ ถึงปี 2563 มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น 3 สายพันธุ์ รวมทั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19

การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้น และมีอาการรุนแรงน้อยลงไป

เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด เนื่องจากเป็นฝอยละอองที่มีขนาดใหญ่ (มากกว่า 5 ไมครอน) จึงกระจายออกไปได้ไม่ไกล คือภายในระยะไม่เกิน 1 เมตร จัดว่าเป็นการแพร่กระจายทางละอองเสมหะ (droplet transmission)

นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้อหวัดอาจติดที่มือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ โทรศัพท์ เป็นต้น) หรือสิ่งแวดล้อมที่เปื้อนถูกฝอยละอองของผู้ป่วย เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เชื้อหวัดก็จะติดมือของคน ๆ นั้น และเมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคน ๆ นั้นจนกลายเป็นไข้หวัดได้

ระยะฟักตัว (ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น) 1-3 วัน

ไข้หวัดอาจติดต่อโดยการสัมผัส

ไข้หวัดอาจติดต่อโดยการสัมผัส

ไข้หวัดอาจติดต่อโดยการจามรด

ไข้หวัดอาจติดต่อโดยการจามรด

อาการ

มีไข้เป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย คอแห้งหรือเจ็บคอเล็กน้อย คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ซึ่งมักจะมีน้ำมูกมากใน 2-3 วันแรก

น้ำมูกมีลักษณะใส บางรายหลังมีน้ำมูกใสได้ 2-3 วันน้ำมูกอาจมีลักษณะข้นขาว หรือเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ซึ่งมักพบในช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า เนื่องจากเป็นน้ำมูกที่ค้างอยู่ในจมูกเป็นเวลานาน ตอนสาย ๆ ก็มักจะกลับกลายเป็นใส

ต่อมาอาจมีอาการไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณลิ้นปี่เวลาไอ ในเด็กเล็กอาจมีอาการอาเจียนเวลาไอ

ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกไหล

ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ในทารกอาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเดินร่วมด้วย

ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้ติดต่อกันนานเกิน 4 วัน หรือมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล ติดต่อกันนานเกิน 10 วัน

ภาวะแทรกซ้อน

มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้มีไข้ หรือเป็นหวัดเรื้อรังนานกว่าปกติ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ดังนี้

    หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน มักพบในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดหูมาก ในทารกจะมีอาการร้องงอแง เอามือดึงใบหูตัวเอง
    ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มีอาการไข้ ปวดหน่วง ๆ ที่หน้าผาก หัวตา หรือโหนกแก้ม มักมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวมีกลิ่นเหม็น
    ทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน มีอาการเจ็บคอมาก กลืนลำบาก ตรวจพบทอนซิลบวมแดง เป็นหนอง
    กล่องเสียงอักเสบ มีอาการเสียงแหบ
    หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน มีอาการไอบ่อย มีเสลดที่ขึ้นมาจากหลอดลม
    หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน มีอาการวิงเวียน เห็นบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน
    โรคหืดกำเริบ มีอาการหายใจหอบ หายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ
    ปอดอักเสบ มีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบ หรือหายใจเร็ว

โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อน ตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ (เช่น ขาดอาหาร เป็นต้น) ในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบดังนี้

มักตรวจพบไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวมและแดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบทอนซิลโต แต่ไม่แดงมากและไม่มีหนอง

ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น (เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 ไข้เลือดออก) แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด นำน้ำมูกหรือเสมหะไปตรวจหาเชื้อ เอกซเรย์ เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

1. ให้ยารักษาตามอาการ ดังนี้

(1.1) สำหรับผู้ใหญ่ และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี

    ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล
    ถ้ามีอาการน้ำมูกไหล ใช้กระดาษทิชชูเช็ดออก ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ยกเว้นในรายที่มีน้ำมูกมากหรือจามมากจนทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อย หรือไม่สุขสบายอย่างมาก ให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน บรรเทาอาการเท่าที่จำเป็น โดยให้กินครั้งละ ½-1 เม็ด ถ้าไม่ทุเลาซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ถ้าทุเลาแล้วให้หยุดยา*
    ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่น น้ำมะนาว หรือน้ำขิงอุ่น ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว** (น้ำผึ้ง 4 ส่วน น้ำมะนาว 1 ส่วน) บ่อย ๆ ถ้าไอมากลักษณะไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ให้ยาระงับการไอ

(1.2) สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี

    ถ้ามีไข้ ให้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม
    ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดน้ำมูกออกบ่อย ๆ (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อน) หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่ง สอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรชุบน้ำสุก หรือน้ำเกลือพอชุ่มก่อน) แพทย์จะไม่ให้ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก เนื่องเพราะมีผลเสีย (ผลข้างเคียงจากยา) มากกว่าประโยชน์ในการรักษาโรค
    ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว** ถ้ามีอาการอาเจียนเวลาไอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน แนะนำให้ป้อนนมและอาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเข้านอน

2. ยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้ เพราะนอกจากไม่ได้มีผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่างตามมาได้

แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น) ในรายที่มีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

3. ถ้าไอมีเสมหะเหนียว ให้งดยาแก้แพ้ลดน้ำมูกและยาระงับการไอ และให้ดื่มน้ำมาก ๆ วันละประมาณ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร)

4. ถ้ามีอาการหอบ หรือนับการหายใจได้เร็วกว่าปกติ (เด็ก อายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปีหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปีหายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที) หรือมีไข้นานเกิน 4 วัน อาจเป็นปอดอักเสบหรือภาวะรุนแรงอื่น ๆ ได้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น แล้วทำการรักษาตามสาเหตุที่พบ

5. ถ้าสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อในจมูกหรือคอหอย และให้การดูแลรักษาตามสาเหตุที่พบ

6. ถ้าสงสัยเป็นไข้หวัดนก เช่น มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วัน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ถ้าเป็นจริงก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

ผลการรักษา ส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการ มักหายได้ภายใน 7-10 วัน ส่วนน้อยที่อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งเมื่อให้ยาปฏิชีวนะรักษาก็หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ มีน้อยรายที่อาจเป็นปอดอักเสบ ซึ่งจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

*ยาแก้แพ้มีฤทธิ์ในการลดน้ำมูกในผู้ที่เป็นไข้หวัด ใช้เพียงเพื่อบรรเทาอาการให้สุขสบายเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น เนื่องจากยานี้อาจมีผลข้างเคียงได้หลายอย่าง จึงควรใช้บรรเทาอาการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี (นอกจากไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการแล้ว ยังอาจเกิดโทษได้อีกด้วย) ผู้ที่เป็นต้อหิน โรคลมชัก โรคหืด หรือต่อมลูกหมากโต (มีอาการปัสสาวะลำบาก) ก็ไม่ควรใช้ยานี้เพราะอาจมีผลข้างเคียงทำให้โรคเหล่านี้กำเริบได้

**ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำผึ้งแก่ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคโบทูลิซึม

การดูแลตนเอง

1. ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งมั่นใจว่าเป็นไข้หวัดที่ไม่รุนแรง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
    สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
    ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
    ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
    ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
    งดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่
    ถ้ามีไข้สูง กินยาลดไข้-พาราเซตามอล (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม)
    ถ้ามีน้ำมูกมาก สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ให้ใช้ลูกยางดูด หรือใช้กระดาษเช็ดออก

สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี ใช้กระดาษเช็ดออก ถ้ามีน้ำมูกมากหรือจามมากจนทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อย หรือไม่สุขสบายอย่างมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงความจำเป็นและความปลอดภัยในการใช้ยาแก้แพ้ลดน้ำมูกบรรเทาอาการ

    ถ้าไอเล็กน้อย ให้จิบน้ำอุ่น น้ำมะนาว หรือน้ำขิงอุ่น ๆ บ่อย ๆ ถ้าไอมาก ให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี) หรือยาแก้ไอมะขามป้อม หรืออมยาอมมะแว้ง (ยกเว้นเด็กเล็ก) ถ้าไอมีเสมหะเหนียว ควรดื่มน้ำมาก ๆ
    ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
    -    พบอาการไข้หรือไข้หวัดในทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน
    -    ทารกมีไข้ ร่วมกับร้องกวนงอแงมาก หรือเอามือดึงใบหูตัวเอง หรือมีไข้ขึ้นสูงกว่าวันแรก ๆ
    -    มีไข้สูงตลอดเวลา หรือมีไข้เป็นพัก ๆ ทุกวันติดต่อกันนานเกิน 4 วัน หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย หรือหลังจากไข้หายแล้วไม่นานกลับมีไข้กำเริบใหม่
    -    ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ปวดเมื่อยตามตัวมาก นอนซม หรือซึมมาก
    -    ปวดหูมาก เจ็บหน้าอกมาก เจ็บคอมาก กลืนลำบาก หรือกินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย
    -    มีอาการปวดและกดเจ็บที่หน้าผาก หัวตา หรือโหนกแก้ม
    -    มีน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองหรือเขียว และมีกลิ่นเหม็น
    -    หายใจหอบ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีหายใจเร็วกว่าปกติ (เด็กอายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปีหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปีหายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที)
    -    มีอาการหอบหืดกำเริบ หรือหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ
    -    มีอาการเป็นหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นเวลานานเกิน 10 วัน
    -    มีอาการไอนานเกิน 14 วัน หรือไอมีเสลดข้นเหลืองหรือเขียว
    -    มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด
    -    สงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคโควิด-19 ไข้เลือดออก หรือไข้จากสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ
    -    มีประวัติการแพ้ยา หรือหลังกินยามีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    -    มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจท&